Column banner

เสริมสร้างโภชนาการที่ดี : พื้นฐานของการพัฒนา (ตอนที่ ๒)

 

          “... เด็กมีความสำคัญ ในฐานะเป็นอนาคต เป็นความหวังของชาติ แต่ในปัจจุบัน ยังมีเด็กไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ขาดความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและสมอง เพราะไม่ได้รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและถูกส่วนอันเนื่องมาจากฐานะทางครอบครัว หรือขาดความรู้เรื่องโภชนาการ ยิ่งยามประเทศชาติอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าจำนวนเด็กเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้น ในการพัฒนาเด็ก ถ้าไม่สามารถพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในด้านสุขภาพและอนามัยก่อน เด็กก็จะไม่มีความพร้อมสำหรับการพัฒนาด้านอื่นๆ ไม่อาจนับว่าเป็นอนาคตของชาติได้ การที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสในเรื่องการกินดีขึ้นนั้น ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังทุกฝ่าย...”  

                                          พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
                                                      ในการประชุมสัมมนา “ร่วมใจ...ปกป้องเด็กไทยยามวิกฤต”   
                                                                       กรุงเทพมหานคร ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒

                                          การส่งเสริมโภชนาการที่ดีของประชาชน

         นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ เป็นต้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มต้นงานพัฒนาที่การส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพของเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงใช้โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นฐานของการพัฒนา เพราะเป็นแหล่งที่มีผู้มีความรู้ คือครู ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ ให้แก่เด็ก ในบางพื้นที่ที่สถานการณ์ของปัญหาอาหารและโภชนาการมีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น จะทรงใช้การพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการมาช่วยในการแก้ปัญหา ทรงพัฒนางานอยู่ตลอดเวลาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จากโครงการ ๑ โครงการ ทรงขยายมาเป็นการพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น และกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่มีเพียงเด็กวัยเรียนก็ทรงขยายให้ครอบคลุมเด็กเล็กจนถึงทารกในครรภ์มารดาด้วย

          งานพัฒนาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าถึงเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ตามชายขอบของประเทศซึ่งขาดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนา ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาความหิวโหยและทุพโภชนาการของเด็กเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างโอกาสให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ด้วย นอกจากนี้ ผลลัพธ์จากการทรงงานยังช่วยให้เด็กทุกคนมีภาวะโภชนาการดี สุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะเรียนรู้ และได้รับการพัฒนาศักยภาพ มีความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ สามารถพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ นอกจากนี้ ยังสนพระราชหฤทัยในการส่งเสริมโภชนาการของผู้สูงอายุ ตลอดจนการดูแลโภชนาการของผู้ป่วย ด้วยทรงเชื่อว่าโภชนาการที่ดีมีความจำเป็นต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในภาวะดังกล่าว 
                                   
                          กิจกรรมด้านโภชนาการในแม่และเด็กและหญิงวัยเจริญพันธุ์

                                      ๑. การปรับปรุงภาวะโภชนาการของแม่และเด็ก  

               
      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลภาวะโภชนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์และเด็กแรกเกิดซึ่งเป็นช่วงวิกฤติที่สุดของวงจรชีวิตในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยทรงเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเหล่านี้ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูให้มีภาวะโภชนาการที่ดีและมีพัฒนาการตามวัยกิจกรรมตามพระราชดำริ ได้แก่

- การฝึกอบรมหมอตำแยแต่ละหมู่บ้านที่โรงพยาบาลในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถดูแลแม่ และทำคลอดอย่างถูกวิธีจนเด็กคลอดอย่างปลอดภัย
- การฝึกอบรมให้แม่และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐให้มีความรู้และทักษะทั้งด้านโภชนาการและสุขภาพอนามัย ส่งผลให้สุขภาพและภาวะโภชนาการของเด็กในชุมชนดีขึ้น
- การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในครัวเรือน โดยส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน 
     
        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ขยายโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันออกไปสู่ครัวเรือน โดยโรงเรียนและหน่วยงานได้ให้พันธุ์ไก่ เป็ด และอาหารสัตว์แก่ครอบครัวของเด็กที่ขาดสารอาหาร นำไปเลี้ยงเพื่อการบริโภคในครัวเรือน และครูได้ติดตามไปดูพร้อมทั้งให้คะแนน ทำให้ครอบครัวเด็กได้ลงมือทำจริงและเกิดผลผลิตขึ้นจริง

                                             ๒. การส่งเสริมโภชนาการของเด็กเล็ก


                                                    

         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยเด็กเล็กในชุมชนชนบทที่พ่อแม่ต้องเดินทางไปหางานทำในเมือง วัยเด็กเล็กนี้ยังเป็นช่วงวิกฤติของวงจรชีวิต จึงมีพระราชดำริในการดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการจัดสถานที่ให้เด็กเหล่านี้มารวมกัน โดยเรียกว่า “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาเด็กวัยเตาะแตะ” ในระยะแรกของการจัดตั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินค่าก่อสร้างศูนย์ฯ และโปรดเกล้า ฯ ให้จ้างคนในชุมชนมาดูแลเด็ก จัดอาหารกลางวันและอาหารเสริมเลี้ยงเด็ก ภายใต้การดูแลของ อบต. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ต่อมา อบต. ได้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายของศูนย์ฯ นอกจากดูแลเด็ก ศูนย์ฯ ยังจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ติดตามการเจริญเติบโต และดูแลสุขภาพของเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี รวมทั้งให้การอบรมแก่ผู้สูงวัยเกี่ยวกับโภชนาการพื้นฐานและการดูแลสุขภาพ ในกรณีที่ขาดบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ศูนย์ฯ จะทำงานร่วมกับครูในโรงเรียนประถมศึกษาที่อยู่ในชุมชน ผลจากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้อัตราน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ของเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปีลดจากระดับร้อยละ ๒๐ เหลือร้อยละ ๖.๘

                                     ๓. การเสริมสร้างศักยภาพของแม่ในอนาคต
                    
         หลังจากการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาโภชนาการมาได้ ๑๖ ปี ทรงขยายขอบข่ายของงานครอบคลุมหญิงมีครรภ์และเด็กเล็ก แต่ถึงกระนั้นก็อาจจะยังช้าเกินไป เพราะแม่ที่ภาวะโภชนาการดีและมีการศึกษา มักจะมีลูกที่มีภาวะโภชนาการและสุขภาพที่ดีด้วย จึงมีพระราชดำริที่จะเริ่มให้เร็วกว่านั้นอีก คือการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กตั้งแต่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ โดยการพัฒนา “หลักสูตรการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕-๖” ขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๔๒ - ๒๕๔๓ มีเนื้อหาครอบคลุม ๔ หัวข้อ ได้แก่
๑) ครอบครัว : ประเภทของครอบครัว และบทบาทของสมาชิกในครอบครัว
๒) ความพร้อมของครอบครัวที่เป็นสุข
๓) การดูแลสุขภาพอนามัยของหญิงมีครรภ์และทารก
๔) การปฏิบัติที่ดีเพื่อให้มารดาและทารกมีภาวะโภชนาการที่ดี

        หลักสูตรดังกล่าวเริ่มทดลองใช้เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๓ ในโรงเรียนทุรกันดารห่างไกลและมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับวัย วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น เช่น ปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในภาคใต้ และศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่สูงในภาคเหนือ 

                               โภชนาการสำหรับเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา


         โดยปกติการจัดบริการอาหารกลางวันของสถานศึกษาจะมุ่งเน้นไปที่เด็กเล็กและเด็กประถมศึกษาเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงเด็กระดับมัธยมศึกษาซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจรวมทั้งบทบาททางสังคมอย่างรวดเร็ว เป็นวัยที่อยู่ในระยะการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่
เด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ห่างไกลยังคงประสบปัญหาในวงจรของความขาดแคลน ความหิวโหยและความเจ็บป่วย เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักในความสำคัญนี้ จึงทรงขยายโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันไปยังเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ชนบทและห่างไกลตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๗ โดยพระราชทานเงินให้แก่โรงเรียน ๔๓ แห่ง ในอัตรา ๑๐ บาทต่อคนต่อวัน ครอบคลุมนักเรียนจำนวน ๕,๖๓๓ คน นอกจากเด็กเหล่านี้จะได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าและสะอาดปลอดภัยแล้ว ยังได้รับความรู้และพัฒนาพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม โรงเรียนจึงเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เด็กได้รับการพัฒนาด้านโภชนาการอย่างต่อเนื่อง

                           การอนุรักษ์และการปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย
 
        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการฟื้นฟูและอนุรักษ์อาหารไทย ทรงรวบรวมตำรับอาหารไทยที่เป็นที่นิยม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาบันวิชาการพัฒนาสูตรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความสมดุลในมื้ออาหาร ตัวอย่างเช่น ตำรับอาหารไทยพื้นบ้านครบ ๑ มื้อ (เช่น ข้าวสวย น้ำพริกปลาทู แกงจืดฟัก) ที่ได้วิเคราะห์ปริมาณพลังงานพลังงาน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แคลเซียม โซเดียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี โคเลสเตอรอล และเบตาแคโรทีน

          อาหารจานเดียว เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระราชดำริให้พัฒนา และพระราชทานให้กับโรงเรียนเพื่อใช้ในการจัดอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน โดยนำอาหารพื้นบ้านหลายๆ อย่างที่นิยมบริโภคกันในแต่ละพื้นที่มาผสมผสานจัดเป็นสำรับที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมอยู่ในจานเดียวกัน นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการครบแล้ว ยังสะดวกในการจัดเตรียมด้วย  ดังตัวอย่างที่นำไปใช้ที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีเด็กมาจากหลากหลายพื้นที่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม นอกจากเด็กนักเรียนจะได้บริโภคอาหารแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในเรื่องคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่บริโภค และการพัฒนาบริโภคนิสัยที่เหมาะสมด้วย ทำให้เด็กนักเรียนรู้ว่าควรทำอะไรและทำไมจึงต้องทำ นอกจากนี้ยังทรงเน้นถึงการให้ข่าวสารทางโภชนาการว่า ควรให้ง่าย เข้าไจได้และมีหลักการที่ถูกต้อง

                                              การขยายผลในต่างประเทศ

 
          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ด้อยโอกาสในราชอาณาจักรมาเกือบ ๓๐ ปี โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ฯ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เห็นได้จากการที่เด็กนับแสนคนมีภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยดีขึ้น สามารถเรียนหนังสือจนจบและเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้และดูแลครอบครัวได้ ตลอดจนสามารถช่วยเหลือพัฒนาชุมชนได้

           โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ขยายจากโครงการทดลองขนาดเล็กในโรงเรียนห่างไกล ๓ แห่ง ไปเป็นโครงการพัฒนาแบบผสมผสานในหมู่บ้านที่ห่างไกลมากมาย โครงการทดลองขนาดเล็กตั้งแต่ทรงเริ่มต้นและเป็นที่รู้จักกันดี คือ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ปัจจุบันได้กลายเป็นรูปแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนในการเสริมสร้างศักยภาพของคนให้สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ ความสำเร็จเหล่านี้มิได้เป็นที่ประจักษ์เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวต่างประเทศด้วย

           เพื่อนำประสบการณ์การทรงงานไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และชุมชนที่ด้อยโอกาสในประเทศอื่นๆ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ตามที่แต่ละประเทศขอพระราชทานมา นอกจากนี้ยังพระราชทานความร่วมมือกับองค์การนานาชาติหลายแห่ง เช่น องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ โครงการอาหารโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรเอกชน เพื่อร่วมกันสร้างความอยู่ดีกินดี ความสงบและความสุขให้แก่ประชากรของโลกต่อไป
          ประเทศต่างๆ ที่ได้นำประสบการณ์การทรงงานไปขยายผลต่อเด็กและเยาวชน ได้แก่
          ๑. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เริ่มต้น พุทธศักราช ๒๕๓๓
          ๒. สหภาพพม่า เริ่มต้น พุทธศักราช ๒๕๓๘
          ๓. ราชอาณาจักรกัมพูชา เริ่มต้น พุทธศักราช ๒๕๔๔
          ๔. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เริ่มต้น พุทธศักราช ๒๕๔๙
          ๕. มองโกเลีย เริ่มต้น พุทธศักราช ๒๕๕๐
          ๖. ภูฏาน เริ่มต้น พุทธศักราช ๒๕๕๐

                                               พระเกียรติคุณระดับนานาชาติ


             • รางวัลรามอน แมกไซไซ ด้านบริการสาธารณะ พุทธศักราช ๒๕๓๔
              พิธีทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลรามอน แมกไซไซ วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

              • โล่เกียรติยศ ผู้นำดีเด่นผู้อุทิศตนเพื่อโครงการกำจัดโรคขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
              ทูลเกล้า ฯ ถวายโดย สภานานาชาติเพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ณ กรุงเทพมหานคร

              • ทูตพิเศษของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ ด้านโครงการอาหารโรงเรียน 
              ทูลเกล้า ฯ ถวายโดย โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติฯ วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ณ ที่ประชุมคณะกรรมการโครงการอาหารโลก กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี

              • ทูตสันถวไมตรี องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ด้านการเสริมศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อย ด้อยการศึกษา และด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
              พิธีทูลเกล้า ฯ ถวายตำแหน่ง วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ณ กรุงเทพมหานคร

              • ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขา Humane Letters
              พิธีทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญา วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ณ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา

                • รางวัลอินทิรา คานธี ด้านสันติภาพ การลดอาวุธและการพัฒนา พุทธศักราช ๒๕๔๗
                 ทูลเกล้าฯ ถวายโดย Indira Gandhi Memorial Trust พิธีทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัล วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย

              • รางวัลพิเศษสมาพันธ์โภชนาการนานาชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติผลงานดีเด่นในการช่วยเหลือและส่งเสริมโภชนาการของผู้ด้อยโอกาส อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์
               ทูลเกล้าฯ ถวายโดยสมาพันธ์โภชนาการนานาชาติ วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ กรุงเทพมหานคร

                                         -----------------------------

         บรรณานุกรม :

  • เจ้าฟ้านักพัฒนาโภชนาการ ๓๐ ปี ในโครงการตามพระราชดำริ โครงการพัฒนาเด็กและเยาชนในถิ่นทุรกันดาร จัดทำโดย สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (กันยายน ๒๕๕๓)